ตามประวัติอันยาวนานของมหาวิทยาลัยแม่โจ้เมื่อนับถึงปัจจุบันมีอายุกว่า 85 ปีแล้ว สำหรับห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ไม่ได้มีการบันทึกที่แน่ชัดว่ามีการก่อตั้งมาตั้งแต่เมื่อใด แต่คาดว่าน่าจะเริ่มต้นจากการเป็นห้องสมุดในโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมประจำภาคเหนือ ซึ่งเริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2477 ต่อมาโรงเรียนได้มีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเป็น “วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่” และได้รับการยกฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาใช้ชื่อว่า “สถาบันเทคโนโลยีการเกษตร” ในปี พ.ศ. 2518 โดยย้ายสังกัดจากกรมอาชีวศึกษากระทรวงศึกษาธิการมาอยู่ในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และได้ย้ายกลับมาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเนื่องจากการยุบรวมกันระหว่างทบวง มหาวิทยาลัยกับกระทรวงศึกษาธิการ ตามลำดับ
เมื่อแรกก่อตั้งสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรในปี พ.ศ. 2518 ห้องสมุดเป็นหน่วยงานระดับแผนก คือ แผนกห้องสมุด สังกัดกองบริการการศึกษา สำนักงานอธิการบดี มีบุคลากรประจำเพียง 2 คน คือ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 1 คน ทำหน้าที่หัวหน้าแผนกห้องสมุด และลูกจ้างประจำ 1 คน ห้องสมุดมีพื้นที่ประมาณ 140 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในส่วนกลางบริเวณอาคารสำนักงานอธิการบดี มีหนังสือ 4,643 เล่ม ซึ่งเป็นหนังสือที่มีมาตั้งแต่ก่อนที่จะได้รับการยกฐานะเป็นสถาบันเทคโนโลยีการเกษตร ให้บริการวิชาการแก่นักศึกษาระดับปริญญาตรีหลักสูตร 2 ปี 3 สาขาวิชา คือ พืชไร่ พืชสวนประดับ และสัตว์ปีกจำนวน 90 คน และบุคลากรของสถาบันในขณะนั้น ได้แก่ อาจารย์ 44 คน ข้าราชการ 12 คน ลูกจ้าง 67 คน โดยมีบุคลากรประจำแผนก จำนวน 2 คน คือ หัวหน้าแผนกห้องสมุด ทำหน้าที่บริหารจัดการห้องสมุด และนักการภารโรง จำนวน 1 คน
ปี พ.ศ. 2520 ได้มีการบรรจุข้าราชการเป็นบรรณารักษ์วิชาชีพ จำนวน 1 คน และเจ้าหน้าที่พิมพ์ดีด 1 จำนวน 1 คน ต่อมาได้รับงบประมาณค่าก่อสร้างอาคารห้องสมุดเป็นอาคารเอกเทศ 3 ชั้น เนื้อที่ประมาณ 4,370 ตารางเมตร สามารถจุผู้ใช้ห้องสมุดได้ประมาณ 500 ที่นั่ง และได้เริ่มเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2526 ด้วยหนังสือจำนวน 17,205 เล่ม มีบุคลากรในขณะนั้นจำนวน 7 คน และได้ใช้อาคารหลังนี้มาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นหน่วยงานระดับกองเป็น “กองห้องสมุด” สังกัดสำนักงานอธิการบดี ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 103 ตอนที่ 109 วันที่ 26 มิถุนายน 2529 ดำเนินการให้บริการวิชาการแก่ อาจารย์ นักศึกษา ข้าราชการ และบุคคลภายนอกทั่วไป โดยมีการแบ่งส่วนราชการภายในกองห้องสมุดออกเป็นงานต่าง ๆ คือ งานบริหารและธุรการทั่วไป งานทรัพยากรห้องสมุด งานวิเคราะห์ทรัพยากรห้องสมุด งานบริการ และงานโสตทัศนศึกษา
ในปีงบประมาณ 2550 ได้รับงบประมาณ 55 ล้านบาท เพื่อต่อเติมอาคารให้มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นอีก 6,130 ตารางเมตร ทั้งนี้เพื่อเป็นการขยายพื้นที่จากอาคารหลังเดิมเพื่ออำนวยความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้บริการ และเพื่อรองรับกับจำนวนนักศึกษาและบุคลากรที่ต้องการใช้บริการของห้องสมุดที่เพิ่มมากขึ้น รวมมีพื้นที่ให้บริการผู้ใช้จำนวน 1,120 ที่นั่ง ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง จำนวน 14 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2550 จนถึง วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551)
ปัจจุบันได้รับการจัดตั้งเป็น “สำนักหอสมุด” ตามประกาศสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ เรื่องการจัดตั้งส่วนงานภายใน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2552 ประกาศ ณ วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2552 และให้มีการแบ่งงานภายในสำนักหอสมุด ดังนี้ 1) กลุ่มภารกิจบริหารและธุรการ 2) กลุ่มภารกิจระบบและข่ายงานสารนิเทศ 3) กลุ่มภารกิจบริการสารนิเทศ 4) กลุ่มภารกิจจดหมายเหตุและสารนิเทศท้องถิ่น 5) กลุ่มภารกิจเทคโนโลยีทางการศึกษา ตามประกาศสภามหาวิทยาลัย ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปัจจุบันมีจำนวนบุคลากรทั้งสิ้น 42 คน ประกอบด้วย ข้าราชการ 1 คน พนักงานมหาวิทยาลัย 32 คน พนักงานราชการ 1 คน และลูกจ้างชั่วคราวเงินรายได้ 8 คน
ในปีงบประมาณ 2560 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้เปลี่ยนสภาพจากมหาวิทยาลัยของรัฐมาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และได้ประกาศในราชกิจจานุเษกษา พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พ.ศ. 2560 วันที่ 5 เมษายน 2560 ประกอบกับประกาศมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เรื่อง การแบ่งหน่วยงานย่อยภายในของหน่วยงาน ณ วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ดังนี้ 1) กองบริหารงานสำนักหอสมุด 2) ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ 3) ฝ่ายบริการสารสนเทศ 4) ฝ่ายจดหมายเหตุและคอลเล็กชั่นพิเศษ
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีภารกิจหลักในการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการให้บริการสารสนเทศ ของมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนการสอนตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยและเป็นแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติมนอกชั้นเรียน ตลอดจนเป็นหน่วยงานที่ให้บริการสนับสนุนการค้นคว้าวิจัย ได้มีพัฒนาการและเพิ่มศักยภาพการให้บริการสารสนเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีแหล่งเงินสำหรับการดำเนินงานหลักอยู่ 2 แหล่ง กล่าวคือ งบประมาณแผ่นดิน และงบประมาณเงินรายได้ ซึ่งได้รับจากค่าธรรมเนียมบำรุงห้องสมุดของนักศึกษาทุกชั้นปีในทุกภาคการศึกษา นอกจากนั้นยังมีองค์กรต่างประเทศที่เคยให้การสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ เช่น ACNARP ประเทศออสเตรเลีย มอบทุนสนับสนุนการจัดซื้อจัดหาหนังสือตำราวิชาการ ผ่านกรมวิชาการเกษตร ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 ปีThe British Council ประเทศอังกฤษ จัดส่งบรรณารักษ์อาสาสมัครชาวอังกฤษช่วยพัฒนาห้องสมุด เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 4 ปี AUIDP หรือ IDP ประเทศออสเตรเลีย ให้ความช่วยเหลือหลายด้าน ได้แก่ มอบทุนฝึกอบรมทั้งในประเทศและต่างประเทศแก่บรรณารักษ์ ทุนในการจัดซื้อจัดหาวารสารต่างประเทศ ตลอดจนโสตทัศนวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น
ในด้านการให้ความสำคัญต่อความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ เป็นความร่วมมือภายใต้ชื่อ โครงการพัฒนาเครือข่ายห้องสมุดในประเทศไทย (ThaiLIS) ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ และร่วมเป็นสมาชิกข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (Provincial University Library Network: PULINET) นอกจากนั้นบุคลากรของสำนักหอสมุดยังได้ร่วมดำเนินกิจกรรมในฐานะคณะกรรมการบริหารและสมาชิกของชมรมห้องสมุดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือของเครือข่ายห้องสมุดในระดับภาคมาโดยตลอดอีกด้วย
ในด้านการพัฒนาแหล่งสารสนเทศภายในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำนักหอสมุดได้จัดตั้งโครงการข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ขึ้น เนื่องจากได้มีการจัดตั้งห้องสมุดคณะขึ้นภายในมหาวิทยาลัย จึงเป็นภาระหน้าที่ของสำนักหอสมุดที่จะต้องทำหน้าที่เป็นแกนนำในการพัฒนาแหล่งสารสนเทศของมหาวิทยาลัยทั้งหมดเหล่านี้ให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับภารกิจในการให้บริการสารสนเทศให้ได้ประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด
อาจกล่าวได้ว่า สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ บนเส้นทางของการเป็นห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ได้มีพัฒนาการความก้าวหน้าของกิจการที่ดี ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทั้ง ด้านการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการค้นคว้า การจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัล การให้บริการสื่อ Video on Demand การให้บริการยืม-คืนด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี ด้วยทรัพยากรสารสนเทศทั้งวัสดุสิ่งตีพิมพ์ โสตทัศนวัสดุ สื่อดิจิทัล และฐานข้อมูลออนไลน์ มีบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องคอยให้บริการ ด้วยเป้าหมายในการทำให้ห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งของประชากรภายในมหาวิทยาลัยและประชาชนในท้องถิ่นต่อไป